th
th

นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี

บริษัทฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดีว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการดำเนินงานของบริษัทฯให้มีประสิทธิภาพ และมีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่ประโยชน์สูงสุด ต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตั้งแต่พนักงาน ผู้ลงทุน ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ดังนั้น คณะกรรมการบริษัทจึงได้จัดทำนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีขึ้น โดยครอบคลุมเนื้อหาหลักการสำคัญตั้งแต่โครงสร้าง บทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ จนถึงหลักการในการบริหารงานของผู้บริหารอย่างโปร่งใสชัดเจน และสามารถตรวจสอบได้เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารองค์กรทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าการดำเนินงานใดๆ ของบริษัทฯ จะกระทำด้วยความเป็นธรรม โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

ทั้งนี้ คณะกรรมการและคณะผู้บริหารของบริษัทฯ จะยึดมั่นในหลักการดำเนินธุรกิจด้วยความมุ่งมั่น และซื่อสัตย์สุจริต โดยมีการกำหนดวิสัยทัศน์ นโยบาย และแนวปฏิบัติที่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานยึดถือ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบเพื่อให้มีการผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมในการกำกับดูแลขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นรากฐานการเติบโตที่ยั่งยืน สร้างมูลค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกท่านเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ของคณะกรรมการบริษัทที่ได้วางโครงสร้างองค์กรให้มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบการปฏิบัติงานได้อย่างชัดเจน ซึ่งครอบคลุมหลักเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการที่ดีภายใต้ระเบียบปฏิบัติของสำนักงาน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

คณะกรรมการบริษัทได้ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยได้ตระหนักถึงบทบาท และหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ และคณะผู้บริหารในการสร้างเสริมให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกิจการ และให้ความเชื่อมั่นให้แก่ ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายด้วยการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ และโปร่งใส จึงได้มีการ กำหนดนโยบายสนับสนุนการกำกับดูแลกิจการ โดยครอบคลุมหลักการสำคัญตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ใน 5 หมวด ดังนี้

  1. การประชุมผู้ถือหุ้น
    1. บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด ( มหาชน ) (“บริษัท”) จะสนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นทุกกลุ่มรวมถึงผู้ถือหุ้นประเภทสถาบันเข้าร่วมประชุม
      ผู้ถือหุ้น
    2. บริษัท จะส่งเอกสาร ข้อมูล วัน เวลา สถานที่ และวาระการประชุม ตลอดจน คำชี้แจง และเหตุผลประกอบในแต่ละวาระ รวมทั้งข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องตัดสินใจในที่ประชุมไว้ในหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นหรือในเอกสารแนบวาระการประชุม โดยจะดำเนินการให้ผู้ถือหุ้นทุกคนได้ทราบเป็นการล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 28 วัน รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวไว้ในเว็บไซต์ http://www.zengroup.co.th ของบริษัท
    3. บริษัท จะเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นส่งคำถามเกี่ยวกับวาระการประชุมผู้ถือหุ้นถึงคณะกรรมการบริษัท ล่วงหน้า โดยให้ผู้ถือหุ้นสามารถส่งคำถามได้ตั้งแต่วันที่บริษัท เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นและเอกสารที่เกี่ยวข้องไว้ในเว็บไซต์ของบริษัท จนถึง 7 วันก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งผู้ถือหุ้นสามารถส่งคำถามผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท หรือทางโทรสาร หรือทางอีเมล์ของเลขานุการบริษัท ทั้งนี้ บริษัท จะแจ้งหลักเกณฑ์ในการส่งคำถามล่วงหน้าผ่านระบบข่าวของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์ฯ”) ในหนังสือเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้น และในเว็บไซต์ http://www.zengroup.co.th ของบริษัท
    4. บริษัท จะอำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้นในการใช้สิทธิในการเข้าร่วมประชุมและออกเสียงอย่างเต็มที่ โดยจะจัดประชุมในวันทำการ และมีสถานการประชุมที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครหรือปริมณฑลซึ่งมีการคมนาคมสะดวกต่อการเดินทางของผู้ถือหุ้น อีกทั้งจะจัดให้มีบุคลากรและเทคโนโลยีอย่างเพียงพอสำหรับการตรวจสอบเอกสาร และจัดให้มีอากรแสตมป์สำหรับผู้ถือหุ้นที่รับมอบฉันทะ
    5. บริษัท จะเสนอชื่อกรรมการอิสระอย่างน้อย 1 คน เป็นผู้รับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้นที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ โดยจะใช้หนังสือมอบฉันทะรูปแบบที่ผู้ถือหุ้นสามารถกำหนดทิศทางการลงคะแนนเสียงได้
  2. การดำเนินการในวันประชุมผู้ถือหุ้น
    1. บริษัทจะจัดให้มีการใช้บัตรลงคะแนนเสียง และ/หรือ การลงคะแนนเสียงแบบอิเล็กทรอนิกส์ในกรณีประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Meeting) และ/หรือ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้กับการประชุมผู้ถือหุ้น การลงทะเบียนผู้ถือหุ้น การลงคะแนนเสียงในวาระสำคัญ เช่น การทำรายการเกี่ยวโยง การทำรายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ รวมทั้งการนับคะแนนเสียงและการแสดงผลการลงคะแนน เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเพื่อให้การดำเนินการประชุมสามารถกระทำได้รวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำ ในกรณีประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Meeting) จะปฏิบัติตามพระราชกําหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 และกฎหมายและระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
    2. บริษัท จะกำหนดให้กรรมการและผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ทุกคนเข้าร่วมการประชุมผู้ถือหุ้นและร่วมตอบข้อซักถามต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น
    3. บริษัท จะจัดให้ผู้ถือหุ้นลงคะแนนแยกตามรายการย่อยในแต่ละวาระที่เสนอ เช่น วาระการลงมติเลือกตั้งกรรมการเป็นรายบุคคล
    4. บริษัท จะจัดให้มีบุคคลที่เป็นอิสระเป็นผู้ตรวจนับหรือตรวจสอบคะแนนเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น และจะเปิดเผยผลการลงคะแนนเสียงให้ที่ประชุมทราบ พร้อมบันทึกไว้ในรายงานการประชุม
    5. ประธานในที่ประชุมจะต้องจัดสรรเวลาให้อย่างเหมาะสม และส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นมีโอกาสแสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องต่อที่ประชุมตามระเบียบวาระการประชุมนั้นๆ
  3. การจัดทำรายงานการประชุม และการเปิดเผยมติการประชุมผู้ถือหุ้น
    1. บริษัท จะจัดทำรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นให้แล้วเสร็จภายใน 14 วันนับจากวันประชุม โดยมีการบันทึกการชี้แจงขั้นตอนการลงคะแนน วิธีการแสดงผลคะแนนให้ที่ประชุมทราบก่อนดำเนินการประชุม การเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นตั้งประเด็นหรือซักถาม การตอบสาระสำคัญ คำถาม คำชี้แจง ข้อคิดเห็น และวิธีการนับคะแนน รวมถึงจำนวนคะแนนที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียง ทุกวาระอย่างครบถ้วน รวมถึงบันทึกรายชื่อกรรมการผู้เข้าร่วมประชุมและกรรมการที่ลาประชุมด้วย โดยจะส่งรายงานการประชุมให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามระเบียบ และเผยแพร่ไว้บนเว็บไซต์ของบริษัท เพื่อให้สามารถตรวจสอบและอ้างอิงได้
    2. บริษัท จะเปิดเผยให้สาธารณชนทราบถึงผลการลงคะแนนของแต่ละวาระในการประชุมผู้ถือหุ้นในวันทำการถัดไปบนเว็บไซต์ของบริษัท
  1. การให้ข้อมูลก่อนการประชุมผู้ถือหุ้น
    1. บริษัท จะแจ้งกำหนดการประชุมผู้ถือหุ้นพร้อมระเบียบวาระ และความเห็นของคณะกรรมการบริษัท ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ และเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท อย่างน้อย 28 วันก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น
    2. บริษัท จะแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในการประชุม ขั้นตอนการออกเสียงลงมติ รวมทั้งสิทธิการออกเสียงลงคะแนนตามแต่ละประเภทของหุ้นในหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้น
    3. บริษัท จะทำหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
  2. การคุ้มครองสิทธิของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย
    1. ถือหุ้นมีสิทธิเสนอเรื่องเพื่อบรรจุเป็นวาระในการประชุมผู้ถือหุ้นตามหลักเกณฑ์ที่บริษัท กำหนด ซึ่งได้เผยแพร่รายละเอียดในเว็บไซต์ของบริษัทที่ http:// www.zengroup.co.th โดยให้เสนอมายังบริษัทภายในวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี
    2. ถือหุ้นสามารถเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการตามหลักเกณฑ์ที่บริษัท กำหนด ซึ่งได้เผยแพร่รายละเอียดในเว็บไซต์ของบริษัทที่ http:// www.zengroup.co.th โดยให้เสนอมายังบริษัทภายในวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี
    3. ผู้ถือหุ้นที่เป็นผู้บริหารจะไม่เพิ่มวาระการประชุม หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลสำคัญ โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 21 วันก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น
  3. การป้องกันการใช้ข้อมูลภายใน
    1. บริษัทจะให้ความรู้แก่กรรมการ ผู้บริหาร ของบริษัท รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารในสายงานบัญชีหรือการเงินที่เป็นระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปหรือเทียบเท่า (ตามคำนิยามของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) เกี่ยวกับหน้าที่ในการรายงานการถือครองหลักทรัพย์ของบริษัท ตามมาตรา 59 และบทกำหนดโทษ ตามมาตรา 275 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (“พระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ”) รวมทั้งการรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของบริษัท ตามมาตรา 246 และบทกำหนดโทษ ตามมาตรา 298 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ
    2. กำหนดให้ (ก) กรรมการ และผู้บริหาร รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารในสายงานบัญชีหรือการเงินที่เป็นระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปหรือเทียบเท่า มีหน้าที่จัดทำและเปิดเผยรายงานการถือครองหลักทรัพย์ของตนที่ออกโดยบริษัท รวมถึงคู่สมรสหรือผู้ที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา และบุตรที่ไม่บรรลุนิติภาวะ และ (ข) นิติบุคคลซึ่งบุคคลตาม (ก) ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละ 30 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของนิติบุคคลดังกล่าว และการถือหุ้นรวมกันดังกล่าวเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในนิติบุคคลนั้น ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ครั้งแรกภายใน 7 วันทำการนับจากการมีหน้าที่รายงานตามกฎหมาย และภายใน 3 วันทำการทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยมีการซื้อ ขาย โอน หรือรับโอนหลักทรัพย์ โดยส่งผ่านมายังเลขานุการบริษัท เพื่อนำส่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ทุกครั้ง และกำหนดให้เลขานุการบริษัทสรุปรายงานการถือครองหลักทรัพย์และการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อรับทราบเป็นประจำทุก 6 เดือน และให้กรรมการและผู้บริหารระดับสูงแจ้งต่อคณะกรรมการหรือผู้ที่คณะกรรมการมอบหมายเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของบริษัทตนเองอย่างน้อย 1 วันล่วงหน้าก่อนทำการซื้อขาย
    3. กำหนดห้ามมิให้กรรมการ และผู้บริหาร รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารในสายงานบัญชีหรือการเงินที่เป็นระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปหรือเทียบเท่า และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องที่ได้รับทราบข้อมูลภายในเกี่ยวกับงบการเงิน ฐานะการเงิน หรือผลการดำเนินงานของบริษัท รวมถึงข้อมูลภายในอื่นที่เป็นสาระสำคัญ ซื้อ ขาย เสนอซื้อ หรือเสนอขาย หรือชักชวนให้บุคคลอื่นซื้อ ขาย เสนอซื้อ หรือเสนอขาย ซึ่งหุ้นหรือหลักทรัพย์อื่น (ถ้ามี) ของบริษัท ไม่ว่าทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ในช่วงเวลาก่อนที่จะเผยแพร่งบการเงินหรือเผยแพร่เกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท จนกว่าบริษัท จะได้เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนแล้ว โดยบริษัท จะแจ้งให้กรรมการ และผู้บริหาร งดการทำรายการข้างต้น อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วันล่วงหน้าก่อนการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ และควรรอคอยอย่างน้อย 24 ชั่วโมงภายหลังการเปิดเผยข้อมูลให้แก่สาธารณะแล้ว จึงจะสามารถทำรายการข้างต้นได้
    4. กำหนดห้ามมิให้กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างของบริษัท และบริษัทย่อย ซึ่งรวมถึงบุคคลที่ถูกสันนิษฐานว่ารู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ใช้ข้อมูลภายในของบริษัท และบริษัทย่อย ที่มีหรืออาจมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ของบริษัท ซึ่งยังมิได้เปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งตนได้ล่วงรู้มาในตำแหน่งหรือฐานะเช่นนั้น มาใช้เพื่อการซื้อ ขาย เสนอซื้อ เสนอขาย หรือชักชวนให้บุคคลอื่นซื้อ ขาย เสนอซื้อ หรือเสนอขาย ซึ่งหุ้นหรือหลักทรัพย์อื่น (ถ้ามี) ของบริษัท ไม่ว่าทั้งทางตรงหรือทางอ้อม และไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะทำเพื่อประโยชน์ต่อตนเองหรือผู้อื่น หรือนำข้อเท็จจริงเช่นนั้นออกเปิดเผยเพื่อให้ผู้อื่นกระทำดังกล่าว โดยตนได้รับผลประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ก็ตาม
    5. กำหนดห้ามมิให้กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างของบริษัท และบริษัทย่อย ซึ่งรวมถึงบุคคลที่ถูกสันนิษฐานว่ารู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยข้อมูลภายใน หรือความลับของบริษัท และบริษัทย่อย ตลอดจนข้อมูลความลับของคู่ค้าของบริษัท และบริษัทย่อย ที่ตนได้รับทราบจากการปฏิบัติหน้าที่ ให้บุคคลภายนอกรับทราบ แม้ว่าการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวจะไม่ทำให้เกิดผลเสียหายแก่บริษัท บริษัทย่อย หรือคู่ค้า ก็ตาม
    6. กำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างของบริษัท และบริษัทย่อย ซึ่งรวมถึงบุคคลที่ถูกสันนิษฐานว่ารู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ มีหน้าที่เก็บรักษาความลับและ/หรือข้อมูลภายในของบริษัท และบริษัทย่อย และ ห้ามมิให้กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างของบริษัท และบริษัทย่อย ซึ่งรวมถึงบุคคลที่ถูกสันนิษฐานว่ารู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ นำความลับและ/หรือข้อมูลภายในของบริษัท และบริษัทย่อย ไปใช้ประโยชน์แก่บริษัทอื่น
    7. กำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างของบริษัท และบริษัทย่อย ซึ่งรวมถึงบุคคลที่ถูกสันนิษฐานว่ารู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ มีหน้าที่ปฏิบัติตามแนวทางการใช้ข้อมูลภายในของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ และพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด รวมถึงกฎเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้อง
  4. การมีส่วนได้เสียของกรรมการ

    จรรยาบรรณของบริษัท กำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ของบริษัท และบริษัทย่อย ดำเนินการกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยยึดถือประโยชน์ของบริษัท เป็นสำคัญ บริษัท ได้จัดวางระบบการปฏิบัติงานเพื่อดูแลการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันให้เป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน โดยกำหนดให้กรรมการและผู้บริหารมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับส่วนได้เสียของตนเองและผู้ที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาวาระใดที่กรรมการหรือผู้บริหารมีส่วนได้ส่วนเสีย และจะต้องแจ้งส่วนได้เสียก่อนการพิจารณาวาระนั้นๆ พร้อมทั้งบันทึกไว้ในรายงานการประชุม โดยกรรมการหรือผู้บริหารที่มีส่วนได้เสียในวาระใดจะต้องไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในวาระดังกล่าวและต้องออกจากห้องประชุมในวาระนั้นๆ

บริษัท และบริษัทย่อยให้ความสำคัญในการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยคำนึงถึงสิทธิตามกฎหมายหรือข้อตกลง ไม่ละเมิดสิทธิของผู้มีส่วนได้เสีย อันได้แก่ ลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น หรือนักลงทุน หุ้นส่วนธุรกิจ เจ้าหนี้ สังคม ชุมชนที่บริษัท ตั้งอยู่ รวมทั้งภาครัฐ ผู้สอบบัญชี และคู่แข่ง เพื่อความมั่นคงทางการเงินและความยั่งยืนของกิจการ ดังนั้น บริษัท และบริษัทย่อยจึงคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย โดยบริษัท และบริษัทย่อยจะเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญที่เกี่ยวข้องให้ผู้มีส่วนได้เสียเหล่านั้นได้รับทราบอย่างเพียงพอ มีกระบวนการในการประเมินและกำหนดประเด็นความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียและกำหนดการตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียในแต่ละกลุ่ม รวมถึงมีกระบวนการและช่องทางในการรับและจัดการข้อร้องเรียนของผู้มีส่วนได้เสีย โดยเปิดเผยกระบวนการและช่องทางในเว็บไซต์ของบริษัท และรายงานประจำปี เพื่อประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งนี้ ผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท มีดังต่อไปนี้

  1. ลูกค้า

    บริษัท และบริษัทย่อยจะมุ่งมั่นที่จะทำให้ลูกค้ามีความพึงพอใจสูงสุด ด้วยมาตรฐาน คุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการ รวมทั้งการพัฒนาสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุดในราคาที่ยุติธรรม เป็นธรรมและเหมาะสม ตลอดจนให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดำเนินกิจการและผลิตภัณฑ์ของบริษัท และบริษัทย่อย และพยายามรักษาช่องทางการติดต่อกับลูกค้าโดยเปิดรับฟังความคิดเห็นของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ

  2. พนักงาน

    บริษัท และบริษัทย่อยจะให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความรู้ความสามารถของพนักงาน โดยให้โอกาสกับพนักงานอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ และถือพนักงานเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าขององค์กร และมีความสำคัญต่อการเติบโต และความสามารถในการทำกำไรของบริษัท และบริษัทย่อย รวมทั้งให้การดูแลและจัดหาสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่มีคุณภาพให้แก่พนักงาน โดยให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัย ปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนด้วยความเป็นธรรมตามหลักสิทธิมุษยชน ไม่เลือกปฏิบัติ และ ให้ได้รับผลตอบแทนอย่างยุติธรรมและเป็นธรรมเมื่อเทียบกับธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน

  3. ผู้ถือหุ้น

    บริษัท และบริษัทย่อยจะมุ่งมั่นในการดำเนินงานและจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส เป็นธรรม และใช้ความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ในการบริหารงาน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น ด้วยผลตอบแทนที่ดีและการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรายงานสถานการณ์ของบริษัท และบริษัทย่อยอย่างต่อเนื่อง ครบถ้วน โปร่งใส เชื่อถือได้ และให้โอกาสผู้ถือหุ้นทุกรายได้ใช้สิทธิอย่างเท่าเทียมกัน

  4. หุ้นส่วนธุรกิจและเจ้าหนี้

    บริษัท และบริษัทย่อยถือว่าการทำให้หุ้นส่วนธุรกิจและเจ้าหนี้ของบริษัท เข้าใจถึงกิจการของบริษัท อย่างถ่องแท้เป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้ เพื่อคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ที่ชัดเจน ยั่งยืน และอยู่บนพื้นฐานของความไว้ใจซึ่งกันและกัน บริษัท และบริษัทย่อยจะปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อกำหนดของสัญญาอย่างเคร่งครัด ตลอดจนให้ข้อมูลทางการเงินที่ครบถ้วนและถูกต้องแก่หุ้นส่วนธุรกิจและเจ้าหนี้ของบริษัท รวมทั้ง มีนโยบายไม่เรียก ไม่รับ หรือจ่ายผลประโยชน์ใดๆ ที่ไม่สุจริตกับหุ้นส่วนธุรกิจและเจ้าหนี้ของบริษัท

  5. สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

    บริษัท และบริษัทย่อยจะใส่ใจและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานทั้งหมดของบริษัท รวมทั้งจัดให้มีการควบคุมการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ อย่างเคร่งครัดตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และกฎระเบียบของหน่วยงานที่ดูแล นอกจากนี้ บริษัท พยายามปลูกจิตสำนึกของความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นในองค์กร ตั้งแต่กรรมการบริษัท ผู้บริหารระดับสูง หมู่พนักงานและ ลูกจ้างทุกระดับรวมทั้งมีการประเมินและติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

  6. คู่แข่ง

    บริษัท และบริษัทย่อยจะปฏิบัติต่อคู่แข่งตามกรอบของการแข่งขันอย่างยุติธรรมและมีจริยธรรม และประกอบธุรกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาและความก้าวหน้าของตลาด ซึ่งส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมในภาพรวม โดยไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่แข่งที่ไม่สุจริต หรือไม่เหมาะสม

  7. คู่ค้า

    บริษัท และบริษัทย่อยจะปฏิบัติตามเงื่อนไขทางการค้าและข้อตกลงตามสัญญา โดยมุ่งที่จะปฏิบัติต่อคู่ค้าโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน คำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกัน และมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกคู่ค้า โดยมีการจัดให้ข้อมูลรายละเอียดแก่คู่ค้าทุกราย มีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นธรรมและโปร่งใส ไม่กีดกันคู่ค้ารายหนึ่งรายใดเข้าร่วมแข่งขันทางธุรกิจ และจัดให้มีระบบการจัดการและติดตามเพื่อให้มั่นใจว่ามีการปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วน มีกระบวนการจ่ายเงินให้คู่ค้าตรงเวลา ตามเงื่อนไขการชำระเงินที่ตกลงกัน

    นอกจากนี้ บริษัท และบริษัทย่อยจะจัดให้มีการประเมินคู่ค้าเป็นประจำทุกปี พร้อมทั้งแจ้งผลการประเมินและข้อเสนอแนะ เพื่อให้คู่ค้าได้ปรับปรุงคุณภาพสินค้าและงานบริการอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้คู่ค้าสามารถแจ้งข้อร้องเรียนได้

คณะกรรมการบริษัท มุ่งมั่นที่จะดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับบริษัท และบริษัทย่อย ทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลที่มิใช่ข้อมูลทางการเงินอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา โปร่งใส ผ่านช่องทางที่เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย มีความเท่าเทียมกันและน่าเชื่อถือ ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ในการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสอย่างเคร่งครัด โดยกำหนดหลักการสำคัญในการเปิดเผยข้อมูล ดังนี้

  1. ข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยจะต้องมีความถูกต้อง เพียงพอ ชัดเจน ทันเวลา และไม่ให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญของข้อมูล
  2. ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับที่เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล อย่างถูกต้องและครบถ้วน
  3. บริษัท จะกำหนดให้บุคคลที่ได้รับมอบหมายมีสิทธิในการเปิดเผยข้อมูลสำคัญที่ยังไม่ได้เปิดเผยสู่สาธารณะเท่านั้น
  4. ข้อมูลที่จะมีผลต่อราคาซื้อขายหลักทรัพย์ซึ่งสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน บริษัท จะดำเนินการเปิดเผยต่อสาธารณะโดยไม่ชักช้า ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ
  5. การเปิดเผยข้อมูลจะทำผ่านหลายช่องทาง เช่น การรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ และ/หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือบนเว็บไซต์ของบริษัท เป็นต้น
  1. โครงสร้างคณะกรรมการบริษัท
    1. บริษัท กำหนดให้มีคณะกรรมการบริษัท ประกอบด้วย กรรมการตามจำนวนที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกำหนด โดยต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 12 คน และต้องประกอบด้วยกรรมการอิสระอย่างน้อย 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดแต่ไม่น้อยกว่า 3 คน จำนวนที่เหลือเป็นกรรมการบริหาร และกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร และกำหนดโครงสร้างของคณะกรรมการให้ประกอบด้วยคุณสมบัติหลากหลาย ทั้งในด้านทักษะ ประสบการณ์ เพศ และ ความสามารถเฉพาะด้านที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัท โดยจะทำการเผยแพร่นโยบายในการกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการที่มีความหลากหลาย รวมถึงจำนวนปีการดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัท ของกรรมการแต่ละท่านในรายงานประจำปีและบนเว็บไซต์ของบริษัท
    2. กรรมการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด และไม่มีลักษณะที่แสดงถึงการขาดความเหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจให้บริหารจัดการกิจการที่มีมหาชนเป็นผู้ถือหุ้นตามกฏหมาย และประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และในการสรรหากรรมการใหม่จะพิจารณาจากฐานข้อมูลกรรมการ (Director Pool) ด้วย
    3. เพื่อเสริมสร้างคณะกรรมการบริษัท ให้มีความเข้มแข็งและกรรมการสามารถทุ่มเทเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ในบริษัท ได้อย่างเพียงพอ บริษัท กำหนดให้กรรมการสามารถดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทจดทะเบียนได้ไม่เกิน 5 บริษัท
    4. เพื่อให้การบริหารงานในธุรกิจของบริษัท บรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ บริษัท มีแนวปฏิบัติในกรณีประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้บริหารระดับสูงของบริษัท จะเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทอื่นที่ไม่ใช่บริษัทที่บริษัทไปลงทุน โดยบริษัทที่ไปดำรงตำแหน่งกรรมการนั้นต้องไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์และไม่ได้เป็นคู่แข่งของบริษัท ทั้งนี้ก่อนการไปดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทอื่นจะมีการเสนอให้คณะกรรมการบริษัทรับทราบ รวมถึงต้องไม่ไปทำงานในบริษัทอื่นใดที่ไม่ใช่บริษัทที่บริษัท ไปลงทุน
    5. บริษัท กำหนดคุณสมบัติของกรรมการอิสระโดยเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ยกเว้นในเรื่องการถือหุ้นซึ่งบริษัท กำหนดเพิ่มเติมให้เข้มงวดกว่า โดยจะต้องถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 0.5 ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วของบริษัท ทั้งนี้ ให้นับหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย และวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการอิสระไม่เกิน 9 ปี
    6. บริษัท กำหนดให้ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นคนละบุคคลกัน เพื่อให้สามารถเกิดการตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของฝ่ายบริหารได้อย่างอิสระ โดยแบ่งแยกหน้าที่และความรับผิดชอบออกจากกัน ดังนี้
      1. ประธานกรรมการมีหน้าที่กำกับดูแลการประชุมคณะกรรมการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยดูแลให้มีวาระการประชุมที่สำคัญและจำเป็นด้านการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเฉพาะเรื่องแผนกลยุทธ์ จัดสรรเวลาให้ฝ่ายบริหารมีการนำเสนอข้อมูลที่ชัดเจน มีการบันทึกรายงานการประชุมอย่างถูกต้อง รวมทั้งดูแลให้การกำกับดูแลกิจการของบริษัท เป็นไปตามนโยบายที่วางไว้ นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมผู้ถือหุ้นด้วย
      2. ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมีหน้าที่ควบคุมดูแลบริหารตามที่คณะกรรมการมอบหมาย รวมถึงการจัดทำนโยบาย แนวทางยุทธศาสตร์การทำธุรกิจ เป้าหมาย แผนงาน และงบประมาณประจำปีของบริษัท และบริษัทย่อย เสนอคณะกรรมการบริษัท อนุมัติ รวมทั้งดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายแนวทางยุทธศาสตร์การทำธุรกิจ เป้าหมาย แผนงานและงบประมาณประจำปีของบริษัท และบริษัทย่อยตามที่คณะกรรมการบริษัท อนุมัติ
    7. บริษัท จัดให้มีเลขานุการบริษัทเพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำด้านกฎหมาย กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่คณะกรรมการบริษัท ควรทราบ และปฏิบัติหน้าที่ดูแลกิจกรรมของกรรมการ รวมทั้งประสานงานให้มีการปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการบริษัท ทั้งนี้ เลขานุการบริษัทต้องมีวุฒิการศึกษาจบปริญญาตรีทางกฎหมายหรือบัญชี หรือได้ผ่านการอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของเลขานุการบริษัท โดยบริษัท จัดให้มีการกำหนดคุณสมบัติของเลขานุการบริษัท ที่เหมาะสมและเปิดเผยคุณสมบัติและประสบการณ์ของเลขานุการบริษัทในรายงานประจำปีและบนเว็บไซต์ของบริษัท และให้เลขานุการบริษัทได้ฝึกอบรมและพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง
  2. การจัดตั้งคณะกรรมการชุดย่อยเฉพาะเรื่อง

    คณะกรรมการบริษัท ได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยจำนวน 5 คณะ ได้แก่

    1. คณะกรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาล
    2. คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง
    3. คณะกรรมการการตลาดและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
    4. คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน
    5. คณะกรรมการบริหาร

    คณะกรรมการชุดย่อยแต่ละคณะจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายงานจากคณะกรรมการบริษัท โดยมีอำนาจแจ้งให้ฝ่ายบริหารเข้าประชุม ชี้แจง หรือจัดทำรายงานนำเสนอ ได้ตามที่เห็นควร

    คณะกรรมการชุดย่อยแต่ละคณะมีองค์ประกอบ วาระการดำรงตำแหน่ง และหน้าที่ เป็นไปตามกฎบัตรของแต่ละคณะ สรุปได้ดังนี้

    1. คณะกรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาล ประกอบด้วยกรรมการอิสระทั้งคณะ โดยได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัท จำนวนไม่น้อยกว่า 3 ท่าน โดยอย่างน้อย 1 ท่านต้องมีความรู้ด้านบัญชีการเงิน และต้องมีคุณสมบัติเกี่ยวกับความเป็นอิสระตามประกาศของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน คณะกรรมการตรวจสอบทำหน้าที่ดูแลให้บริษัท มีการจัดทำรายงานการเงินให้ถูกต้องเพียงพอ สอบทานระบบควบคุมภายใน และการตรวจสอบภายในให้มีประสิทธิผล สอบทานการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เสนอแต่งตั้งและเลิกจ้างผู้สอบบัญชี พิจารณารายการที่เกี่ยวโยงกันหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ให้เป็นไปตามเกณฑ์ รวมถึงมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี
    2. คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ประกอบด้วยกรรมการและผู้บริหารของบริษัท จำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน โดยต้องได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัท
    3. คณะกรรมการการตลาดและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยกรรมการของบริษัท และกรรมการอิสระ โดยได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัท จำนวนไม่น้อยกว่า 3 ท่าน และมีกรรมการอิสระเป็นประธานคณะกรรมการการตลาดและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
    4. คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน ประกอบด้วยกรรมการของบริษัท โดยได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัท จำนวนไม่น้อยกว่า 3 ท่าน และมีกรรมการอิสระเป็นประธานคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน โดยกำหนดให้คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนประกอบด้วยกรรมการอิสระจำนวนเกินกึ่งหนึ่ง
    5. คณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วยกรรมการของบริษัท จำนวนหนึ่ง และอาจประกอบด้วยบุคคลอื่นใด คนหนึ่งหรือหลายคน โดยมีจำนวนตามที่คณะกรรมการบริษัท เห็นสมควรและได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัท
  3. บทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท
    1. หน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท เป็นไปตามที่ได้กำหนดไว้โดยกฎหมาย หนังสือบริคณห์สนธิ ข้อบังคับ และมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งรวมถึงการดำเนินการดังต่อไปนี้
      1. กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบาย กลยุทธ์ และเป้าหมายทางการเงินสำหรับบริษัท และบริษัทย่อย รวมทั้งพิจารณาอนุมัตินโยบายและทิศทางการดำเนินงานที่ฝ่ายบริหารเสนอ และกำกับควบคุมดูแลให้ฝ่ายบริหารดำเนินการให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบาย กลยุทธ์ และเป้าหมายทางการเงินดังกล่าว โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
      2. สอบทานกฎบัตรคณะกรรมการบริษัท อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
      3. วางโครงสร้างและกำหนดกระบวนการของบริษัท และบริษัทย่อย เพื่อให้มั่นใจว่ามีการดำเนินการที่เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ มติของคณะกรรมการ มติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ด้วยความสุจริตและระมัดระวัง
      4. วางโครงสร้างและกำหนดกระบวนการของบริษัท และบริษัทย่อย เพื่อให้มีระบบการบริหารความเสี่ยง การกำกับและตรวจสอบ และการควบคุมภายในที่เหมาะสม
      5. ติดตามและประเมินผลการทำหน้าที่บริหารจัดการของบริษัท และบริษัทย่อย เพื่อให้บรรลุตามแผนกลยุทธ์ภายใต้งบประมาณซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท
      6. ดูแลให้มีการจัดทำบัญชี และการเก็บรักษาบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลที่เหมาะสมให้แก่ผู้ถือหุ้น และสาธารณชนทั่วไป
      7. ตรวจตราและดำเนินการให้เป็นที่แน่ใจได้ว่าบริษัท และบริษัทย่อยได้มีการปฏิบัติตามจรรยาบรรณและนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่กำหนดโดยคณะกรรมการ รวมทั้งกำหนดนโยบายของบริษัท และบริษัทย่อยด้านบรรษัทภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
      8. มีอำนาจในการแต่งตั้งบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทย่อยอย่างน้อยตามสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทย่อย และมีการกำหนดขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการและผู้บริหารที่ได้รับการแต่งตั้งไว้อย่างชัดเจน ซึ่งรวมถึงการกำหนดกรอบอำนาจในการใช้ดุลพินิจที่ชัดเจนให้การออกเสียงในการประชุมคณะกรรมการบริษัทย่อยในเรื่องสำคัญต้องได้รับความเห็นจากคณะกรรมการบริษัท ก่อนและมีการควบคุมการบริหารให้เป็นไปตามนโยบายของบริษัท และการทำรายการต่างๆ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งรวมถึงการเปิดเผยข้อมูลฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน การทำรายการระหว่างกัน และการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินที่มีนัยสำคัญให้ครบถ้วนถูกต้อง

      ทั้งนี้ การมอบหมายอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท นั้น จะไม่มีลักษณะเป็นการมอบอำนาจ หรือมอบอำนาจช่วงที่ทำให้คณะกรรมการบริษัท หรือผู้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการบริษัท สามารถอนุมัติรายการที่ตนหรือบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง (ตามที่นิยามไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน) อาจมีส่วนได้เสีย หรืออาจได้รับประโยชน์ในลักษณะใดๆ หรืออาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์อื่นใดกับบริษัท หรือบริษัทย่อยของบริษัท ยกเว้นเป็นการอนุมัติรายการที่เป็นไปตามนโยบายและหลักเกณฑ์ที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นหรือคณะกรรมการบริษัท พิจารณาอนุมัติไว้

    2. ในการกำกับดูแลกิจการของบริษัท นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์และข้อบังคับ ตลอดจนมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นแล้ว คณะกรรมการยังมีการกำหนดอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท ไว้ตามที่ปรากฏในกฎบัตรของคณะกรรมการบริษัท
  4. การประชุมคณะกรรมการบริษัท และการได้รับเอกสารข้อมูลต่างๆ

    คณะกรรมการบริษัท ปฏิบัติงานผ่านการประชุมของคณะกรรมการบริษัท ดังนี้

    1. บริษัท จัดให้มีตารางการประชุมคณะกรรมการเป็นการล่วงหน้าทั้งปี และให้เลขานุการบริษัทแจ้งให้กรรมการแต่ละคนทราบกำหนดการดังกล่าว
    2. กำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัท อย่างน้อย 6 ครั้งต่อปี และจะต้องประชุมกันอย่างน้อย 3 เดือนต่อ 1 ครั้ง
    3. ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมกันพิจารณาเลือกเรื่องเข้าวาระการประชุมคณะกรรมการบริษัท โดยเปิดโอกาสให้กรรมการแต่ละคนมีอิสระที่จะเสนอเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัท เข้าสู่วาระการประชุม
    4. การประชุมคณะกรรมการบริษัท แต่ละครั้ง มีกำหนดวาระการประชุมที่ชัดเจน มีเอกสารประกอบการประชุมที่ครบถ้วนเพียงพอ และจัดส่งเอกสารประกอบการประชุมให้แก่กรรมการเป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วันก่อนวันประชุม
    5. กรรมการทุกคนต้องเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริษัท และการประชุมผู้ถือหุ้นทุกครั้ง เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็น
    6. ประธานกรรมการจะจัดสรรเวลาไว้อย่างเพียงพอที่ฝ่ายจัดการจะเสนอเรื่องและมากพอที่กรรมการจะอภิปรายปัญหาสำคัญกันอย่างรอบคอบโดยทั่วกัน ประธานกรรมการจะส่งเสริมให้มีการใช้ดุลยพินิจที่รอบคอบ กรรมการทุกคนให้ความสนใจกับประเด็นทุกเรื่องที่นำสู่ที่ประชุม รวมทั้งประเด็นการกำกับดูแลกิจการ
    7. กำหนดให้จำนวนองค์ประชุมขั้นต่ำ ณ ขณะที่คณะกรรมการจะลงมติในที่ประชุมคณะกรรมการว่า ต้องมีกรรมการอยู่ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด
    8. ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการไม่ใช่กรรมการอิสระ คณะกรรมการบริษัท จะดำเนินการแต่งตั้งให้กรรมการอิสระท่านใดท่านหนึ่ง ร่วมพิจารณากำหนดวาระการประชุมคณะกรรมการ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน
    9. บริษัท มีนโยบายให้กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร มีโอกาสที่จะประชุมระหว่างกันเองตามความจำเป็น เพื่ออภิปรายปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการที่อยู่ในความสนใจโดยไม่มีฝ่ายจัดการร่วมด้วย และแจ้งให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทราบถึงผลการประชุมด้วย
    10. บริษัท มีนโยบายสนับสนุนให้ผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริษัท
    11. กรรมการทุกคนสามารถเข้าถึงสารสนเทศที่จำเป็นเพิ่มเติมได้จากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เลขานุการบริษัท หรือผู้บริหารอื่นที่ได้รับมอบหมาย ภายในขอบเขตนโยบายที่กำหนด และกรณีจำเป็นอาจจัดให้มีความเห็นอิสระจากที่ปรึกษา
    12. คณะกรรมการบริษัท มอบหมายให้เลขานุการบริษัททำหน้าที่บันทึกการประชุม ให้ครบถ้วนถูกต้อง และต้องมีความชัดเจนทั้งผลการประชุม และความเห็นของคณะกรรมการเพื่อใช้ในการอ้างอิง
  5. การประเมินตนเองของคณะกรรมการ

    คณะกรรมการบริษัท กำหนดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัท เป็นประจำทุกปี เพื่อพิจารณาผลงานและปัญหา เพื่อการปรับปรุงแก้ไขต่อไป

    บริษัท มีกระบวนการประเมินผลของคณะกรรมการบริษัท ดังนี้

    1. คณะกรรมการบริษัท จัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานตนเองเป็นรายปี เพื่อให้กรรมการร่วมกันพิจารณาผลงานและปัญหา เพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป ทั้งนี้ การประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัท จะใช้แนวทางตามการประเมินที่เสนอแนะโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ และดำเนินการปรับปรุงเพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท
    2. คณะกรรมการบริษัท จัดให้มีการประเมินผลงานของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อเปรียบเทียบกับผลการดำเนินงานโดยคณะกรรมการบริษัท จะทำการประเมินในแบบประเมินผล และคณะกรรมการบริษัท ได้มอบหมายให้ประธานกรรมการเป็นผู้แจ้งผลการประเมินต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหารและคณะกรรมการบริษัท
  6. ค่าตอบแทนของกรรมการ

    เพื่อเป็นการป้องกันการขัดกันของผลประโยชน์บริษัท จึงกำหนดให้คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนเป็นผู้พิจารณากำหนดและเสนอให้คณะกรรมการเห็นชอบ จากนั้นจึงให้ผู้ถือหุ้นเห็นชอบตามผลงานของคณะกรรมการ โดยมีหลักเกณฑ์ปฏิบัติดังนี้

    1. การพิจารณาค่าตอบแทนของคณะกรรมการ คณะกรรมการจะพิจารณาจากการเปรียบเทียบกับบริษัท ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ผลประกอบการของบริษัท และหน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการ โดยการพิจารณากำหนดค่าตอบแทนของกรรมการอยู่ในอำนาจอนุมัติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยผู้ถือหุ้นมีสิทธิพิจารณาหลักเกณฑ์ และนโยบายการกำหนดค่าตอบแทนกรรมการทุกปี โดยคณะกรรมการบริษัท ต้องนำเสนอค่าตอบแทนกรรมการให้ผู้ถือหุ้นเป็นผู้พิจารณา โดยกำหนดเป็นวาระการประชุมในการประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้น
    2. ค่าตอบแทนผู้บริหาร เป็นไปตามหลักการและนโยบายที่คณะกรรมการบริษัท กำหนด ซึ่งเชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานของบริษัท และผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารแต่ละคน
    3. คณะกรรมการบริษัท และผู้บริหารระดับสูงจะต้องรายงานเกี่ยวกับค่าตอบแทนกรรมการ หลักการเหตุผลไว้ในรายงานประจำปีและงบการเงินของบริษัท
  7. การพัฒนากรรมการและผู้บริหาร
    1. บริษัท และบริษัทย่อยจะส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้มีการฝึกอบรมและการให้ความรู้แก่ผู้เกี่ยวข้องในระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท และบริษัทย่อย เช่น กรรมการ กรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาล ผู้บริหาร เลขานุการบริษัท เป็นต้น เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง
    2. บริษัท และบริษัทย่อยจะจัดให้มีการปฐมนิเทศและจัดเอกสารและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการใหม่
    3. บริษัทส่งเสริมให้กรรมการได้พัฒนาความรู้ในการทำหน้าที่กรรมการอย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนให้กรรมการทุกท่านเข้าร่วมอบรมหลักสูตรตามข้อเสนอแนะของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ต.ล.ท.) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
    4. คณะกรรมการจะกำหนดให้มีแผนพัฒนาศักยภาพผู้บริหารระดับประธานเจ้าหน้าที่บริหารจนถึงระดับผู้อำนวยการ โดยมอบให้ฝ่ายบริหารจัดทำแผนสืบทอดงาน และรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท

นโยบายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2566 โดยการอนุมัติของคณะกรรมการบริษัท ในการประชุมครั้งที่ 8/2566